ตู้ดูดควัน Fume hood
อะไรคือตู้ดูดควัน - ตู้ดูดไอสารเคมี (Laboratory Chemical Fume Hood)?
ตู้ดูดควัน-ตู้ดูดไอสารเคมี (Laboratory Chemical Fume Hood) หรือที่บางครั้งมักเรียกสั้นๆกันจนติดปากว่า "ฮู้ด (Hood)" คืออุปกรณ์ภายในห้องปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ "ป้องกันผู้ปฏิบัติการจากอันตรายของสารเคมีหรือสารระเหย (Volatile Organic Compounds, VOCs) อาทิเช่น Acetone, Xylene, Formaldehyde, Ethanol เป็นต้น ระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นจากการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หรือทางการหายใจก็ตาม"
หลักการทำงานของตู้ดูดควัน - ตู้ดูดไอสารเคมีเป็นอย่างไร?
หลักการทำงานเริ่มจาก "การดูดอากาศภายในบริเวณที่เครื่องนี้ตั้งอยู่ ผ่านทางด้านหน้าของเครื่องไปทางผนังด้านหลัง และไหลไปตามท่อลมนอกเครื่อง จนส่งออกสู่ภายนอกอาคารในที่สุด" ซึ่งตำแหน่งการติดตั้งชุดพัดลม (Blower/Fan) จะอยู่ภายในเครื่องหรือนอกเครื่อง และมีระบบการกรอง (Filtration) หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการนำเสนอและผลิตของผู้ผลิตแต่ะละราย แตกต่างกันไป
ตู้ดูดควัน - ตู้ดูดไอสารเคมี แบ่งได้กี่ประเภท?
ตู้ดูดควัน - ตู้ดูดไอสารเคมี นี้มีหลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน ลักษณะความเป็นกรด-ด่างของสารเคมีที่ต้องการป้องกัน ลักษณะการติดตั้งร่วมกับระบบระบายอากาศของอาคาร แต่โดยรวมแล้วสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. ตู้ดูดควันแบบต่อท่อ (Ducted Fume Hood) : คือตู้ดูดควันที่มีการต่อท่อนำอากาศไประบายออกสู่ภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นรูปแบบตู้ดูดควันที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย
2. ตู้ดูดควันแบบไร้ท่อ (Ductless Fume Hood) : คือตู้ดูดควันที่ไม่มีการต่อท่อออกนอกอาคาร แต่จะอาศัยแผงกรองชนิดต่างๆ เพื่อดูดซับกลิ่นสารเคมีเหล่านั้นไว้แทน
ตู้ดูดควันกับตู้ปลอดเชื้อแตกต่างกันอย่างไร? (Fume Hood vs Biological Safety Cabinet)
ตู้ดูดควันทำหน้าที่ป้องกันสารเคมีจากผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น (Personnel Protection only) ในขณะที่ "ตู้ปลอดเชื้อ" สามารถป้องกันผู้ปฏิบัติงาน (Personnel Protection), ผลิตภัณฑ์ (Product Protection) และสิ่งแวดล้อม (Environment Protection) ได้พร้อมๆกัน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้งานแทนกันได้ และอาจส่งผลเสียหายต่องานที่ทำและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้่โดยตรง ดังนั้นองค์กรและผู้ปฏิบัติงานควรศึกษาถึงสภาพงานและความจำเป็นในการใช้งานอุปกรณ์ทั้งสองนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน